ยินดีต้อนรับ สู่แหล่งนวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนเขาพังไกร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดสำนักงานเขตพืันที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 12

บทความเชิงวิชาการ

 การประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาไทยในอนาคต 

                                                     โดยนางสาวกรรณิกา  ดุุลย์เภรี
                                            นักศึกษา ป.บัณฑิต บริหารการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance)  เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชน และสังคมยอมรับในคุณภาพของสถานศึกษาในการจัดการศึกษา  อีกทั้งสร้างมาตรฐานการศึกษาไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ  การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา โดยดำเนินการอย่างมีระบบแบบแผนตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ที่กำหนดไว้  เพื่อประกันว่าสถานศึกษาจะจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ 
การศึกษาที่มีคุณภาพ ย่อมมีกลไกในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ ขั้นตอน และมีประสิทธิภาพ  ในปัจจุบันการศึกษาไทยยังคงเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ว่ามาตรฐานของผู้เรียนยังไม่เป็นที่พึงพอใจของสังคม  ซึ่งมีสาเหตุสำคัญๆ หลายประการด้วยกัน  แต่สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา  ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมาตรการที่เป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว คือ การประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งโดยระบบได้กำหนดให้มีกลไกการประเมิน ทั้งประเมินเพื่อตรวจสอบ ทบทวนและปรับปรุงคุณภาพการศึกษา (Internal Quality and Intervention) และการประเมิน เพื่อให้ได้การรับรองคุณภาพการศึกษา (Quality Accreditation)  จากหน่วยงานภายนอก   
การประกันคุณภาพการศึกษามีความ สำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย  และมีแนวทางการดำเนินการอย่างไรบ้างนั้น  นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งที่ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาจะได้ทำความเข้าใจ  และสร้างความตระหนักร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยในอนาคต 
            พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542 หมวด 6  มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา  จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับ  ประกอบด้วย  ระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก  หน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษา จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร และจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณชน  ให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกห้าปี  โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์  วิธีการประเมิน และจัดให้มีการประเมินดังกล่าว  รวมทั้งเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และสาธารณชน  ในกรณีที่ผลการประเมินภายนอกไม่ได้มาตรฐานให้สำนักงานรับรองมาตรฐานฯ  จัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานต้นสังกัด ให้สถานศึกษาปรับปรุงภายในระยะเวลาที่กำหนด  หากมิได้ดำเนินการ ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานฯ  รายงานต่อคณะกรรมการต้นสังกัด เพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
            จากสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  ที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษา  จึงกล่าวได้ว่า  การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของสถานศึกษาที่จะต้องดำเนินการตามแบบแผนขั้นตอน  เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการทางการศึกษา ทั้งผู้รับบริการโดยตรง คือ ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้รับบริการทางอ้อม คือ สถานประกอบการ ประชาชน และสังคมโดยรวม ว่าการดำเนินงานของสถานศึกษาจะมีประสิทธิภาพและทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่ได้กำหนดไว้
กระบวนการประกันคุณภาพภายใน
            การประกันคุณภาพภายใน  หมายถึง การประเมินผล และการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายในโดยบุคลากรของสถานศึกษานั้นเองหรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 : มาตรา 4) สถานศึกษาจะต้องพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารและการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงหลักการและกระบวนการดังต่อไปนี้
ÿ  จุดมุ่งหมายของการประกันคุณภาพภายใน คือ การที่บุคลากรของสถานศึกษาได้ร่วมกันพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา
ÿการที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย  ต้องทำให้การประกันคุณภาพการศึกษา           เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการและการทำงานของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา
ÿ การประกันคุณภาพเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู อาจารย์และบุคลากรอื่นๆ ในสถานศึกษาโดยในการดำเนินงานจะต้องให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เรียน ชุมชน เขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วางแผน ติดตามประเมินผลพัฒนาปรับปรุง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันผลักดันให้สถานศึกษามีคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ เป็นไปตามความต้องการของผู้ปกครอง สังคม และประเทศชาติ

ขั้นตอนการดำเนินการประกันคุณภาพภายในมีรายละเอียด ดังนี้
            ˜ ขั้นการเตรียมการ คือ การเตรียมความพร้อมของบุคลากร โดยต้องสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของการประกันคุณภาพภายใน และการทำงานเป็นทีม มีการแต่งตั้งคณะกรรม-
การผู้รับผิดชอบในการประสานงาน

            ˜  ขั้นการดำเนินงานประกันคุณภาพภายใน  ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน
      -  การวางแผน (P) จะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย แนวทางการดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบงาน ระยะเวลาและทรัพยากรที่ต้อง
      - การปฏิบัติตามแผน (D) ซึ่งในขณะดำเนินการต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาและผู้บริหารควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรทุกคนทำงานอย่างมีความสุข
      - การตรวจสอบประเมินผล (C) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเพราะจะทำให้ได้ข้อมูลย้อนกลับที่แสดงว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาบรรลุเป้าหมายเพียงใด
      -  การนำผลการประเมินมาปรับ ปรุงงาน (A) เมื่อแต่ละฝ่ายประเมินผลเสร็จแล้วจะส่งผลให้คณะกรรมการรับผิดชอบนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์และแปลผลแล้วนำเสนอผลต่อผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติงานของผู้บริหารและบุคลากร นำไปวางแผนในระยะต่อไป และจัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศหรือการเขียนรายงานประเมินตนเอง
            ˜  ขั้นการจัดทำรายงานประเมินตนเองหรือรายงานประจำปี 
                เมื่อสถานศึกษาดำเนินการประเมินผลภายในเสร็จแล้วจะจัดทำรายงาน โดยเริ่มจากรวบรวมผลการดำเนินงานและผลการประเมินมาวิเคราะห์จำแนกตามมาตรฐานการศึกษาและเขียนรายงาน

กระบวนการประกันคุณภาพภายนอก
การประเมินคุณภาพภายนอก คือ การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา การติดตาม
การตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา โดยผู้ประเมินภายนอกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา โดยผู้ประเมินภายนอกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เพื่อมุ่งให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ผู้ประเมินภายนอกหรือคุณหมอโรงเรียนมีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับการประเมินคุณภาพภายนอกจะนำไปสู่การเข้าถึงคุณภาพการศึกษาด้วยความเป็นกลาง เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาอย่างแท้จริง

แนวคิดและหลักการของการประเมินคุณภาพภายนอก
การประเมินภายนอกของ สมศ. เป็นการประเมินโดยใช้รูปแบบ "กัลยาณมิตรประเมิน" โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อตรวจสอบ ยืนยันสภาพจริงในการดำเนินงานของสถานศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด
2. เพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งช่วยสะท้อนให้เห็นจุดเด่น-จุดด้อยของสถานศึกษา เงื่อนไขของความสำเร็จ และสาเหตุของปัญหา
3. เพื่อช่วยเสนอแนะแนวทางปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด
4. เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพและประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง
5. เพื่อรายงานผลการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน
ระบบการประกันคุณภาพภายในกับระบบการประกันคุณภาพภายนอก มีความแตกต่างและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การประกันคุณภาพภายในเป็นกระบวนการที่สถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องดำเนินการให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร โดยบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาเข้าสู่มาตรฐานการศึกษาแล้วจัดทำรายงานประจำปีเสนอผู้เกี่ยวข้อง ส่วนการประกันคุณภาพภายนอกเป็นงานที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กับการประกันคุณภาพภายใน เป็นการตรวจสอบผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาโดยหน่วยงานภายนอกเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การประกันคุณภาพภายในกับการประกันคุณภายนอกจึงสัมพันธ์เชื่อมโยงกันด้วยมาตรฐานการศึกษาโดยคำนึงถึงหลักการสำคัญ คือ เอกภาพเชิงนโยบาย ความหลากหลายในทางปฏิบัติและมุ่งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากกว่าการควบคุมหรือการให้คุณ
ให้โทษ

สถานศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา
C  สถานศึกษาจะต้องดำเนินการประกันคุณภาพภายในเป็นประจำทุกปี   
C  ให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการศึกษา และการทำงานของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดเป้าหมายหรือมาตรฐานการศึกษาที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายและหลักการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน และดำเนินงานตามแผน ติดตามประเมินผลการทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง และนำผลการประเมินมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เกิดกับผู้เรียนเป็นสำคัญ
C  การดำเนินการประกันคุณภาพทุกขั้นตอนให้เน้นการประสานงานและการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
C  สถานศึกษาจะต้องจัดทำรายงานประจำปีการศึกษาให้เรียบร้อยภายในเดือนเมษายนของทุกปี โดยให้แสดงผลการประเมินคุณภาพการศึกษา แนวทางหรือแผนงานในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาต่อไป แล้วเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงกำหนด
C  จัดเตรียมเอกสารหลักฐานและข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียน และแนวทางการจัดการศึกษา ตามหลักการและจุดมุ่งหมายของ พ...การศึกษาแห่งชาติ และเตรียมพร้อมเพื่อรับการประเมินคุณภาพภายนอก โดยบุคลากรที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกรอบห้าปี
การประกันคุณภาพช่วยสร้างมาตรฐานการศึกษาไทยได้อย่างไร?
& ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้เข้ามา
มีส่วนร่วมในการจัดการและการพัฒนาการศึกษาทุกขั้นตอน นอกจากนี้การประกันคุณภาพการศึกษายังเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังนี้
& ผู้เรียนและผู้ปกครองมีหลักประกันและความมั่นใจว่าสถานศึกษาจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
& ครูได้ทำงานอย่างมืออาชีพ ได้ทำงานที่เป็นระบบที่ดี มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ และเน้นวัฒนธรรมคุณภาพ ได้พัฒนาตนเองและผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและชุมชน
&  ผู้บริหารได้ใช้ภาวะผู้นำ และความรู้ความสามารถในการบริหารงานอย่างเป็นระบบ และมีความโปร่งใส เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ
&หน่วยงานที่กำกับดูแลได้สถานศึกษาที่มีคุณภาพและศักยภาพในการพัฒนาตนเอง ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระในการกำกับดูแลสถานศึกษา และก่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพทางการ ศึกษา และคุณภาพของสถานศึกษา
& ผู้ประกอบการ ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้เยาวชนและคนที่ดีมีคุณภาพและศักยภาพที่จะช่วยทำงานพัฒนาองค์กร ชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป
            การประกันคุณภาพเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะว่าเราจะสามารถพัฒนาระบบต่างๆ ในโรงเรียนให้ดีคือ การปฏิรูปทุกระบบ เราจะมีการแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือแก้ที่ระบบไม่ใช่โทษที่บุคคล บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะมามุ่งมั่นร่วมมือร่วมใจกันในการที่จะพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพโดยพัฒนาระบบต่างๆ คงไม่มีวันใดที่หัวใจของผู้บริหารสถานศึกษาและคุณครูจะมีความสุขเท่ากับวันที่สังคมประเมินและเห็นว่าโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพพัฒนาเยาวชนออกมาเป็นสมบัติของสังคมที่ได้ตามที่สังคมเราคาดหวัง
- เอกสารอ้างอิง -
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,  สำนักงาน.  มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก :
                  ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
.  กรุงเทพมหานคร :  วี ที ซี คอมมิวนิเคชัน,  2543.
_______.  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542.  กรุงเทพมหานคร : พริกหวานกราฟฟิค จำกัด, 
                2542.
_______.  ระบบการประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ.  กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์.
                 2540
วิชาการ,  กรม.  การประกันคุณภาพการศึกษา.  กรุงเทพมหานคร :  โครงการประกันคุณภาพการศึกษา
                 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
,  2539.
วีระยุทธ  ชาตะกาญจน์.  เทคนิคการบริหาร สำหรับนักบริหารการศึกษามืออาชีพ. พิมพ์ครั้งที่ 2.
                 กรุงเทพมหานคร
: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2552.